ข่าวโลกมุสลิม      สัปดาห์แฟชั่นอินโดนีเซีย...ในวันที่ชุดฮิญาบได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น





สัปดาห์แฟชั่นอินโดนีเซีย... ในวันที่ชุดฮิญาบได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น







ผ้าคลุมศีรษะที่ตัดเย็บอย่างประณีต เป็นจุดเด่นของงาน “สัปดาห์แฟชั่นอินโดนีเซีย” ที่จัดขึ้นที่กรุงจาการ์ต้า ท่ามกลางกระแสความนิยมในการแต่งกายแบบปกปิดที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อปีที่ผ่านมา อันนีซา ฮาซิบวน ดีไซเนอร์ชาวอินโดนีเซีย สร้างประวัติศาสตร์ในการเป็นดีไซเนอร์คนแรก ที่จัดแสดงแฟชั่นที่เป็นชุดฮิญาบทั้งหมด ในงาน “สัปดาห์แฟชั่นนิวยอร์ก (New York Fashion Week)”

อันนีซา กล่าวกับสื่อ Fairfax Media ว่า “คนที่ไม่ได้เป็นมุสลิม ยังสนใจที่สวมชุดเสื้อผ้าแบบมุสลิม”






ดร.อาเรียนี อูโตโม

ดร.อาเรียนี อูโตโม นักประชากรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เขียนงานวิจัยเมื่อปี 2015 ในหัวข้อ Who wears a hijab? ว่า เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา แทบจะไม่ได้เห็นหญิงชาวอินโดนีเซียแต่งกายแบบฮิญาบ หรือปิดหน้า และฮิญาบไม่ได้เป็นเครื่องแต่งกายที่นิยมกัน ในช่วงที่เธอเติบโตขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเสื้อผ้าแบบฮิญาบกลายเป็นสิ่งที่เห็นกันจนชินตา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงมุสลิมชนชั้นกลาง ซึ่งมักจะอาศัยอยู่ในเมือง

ดร.อาเรียนี ย้อนความหลังให้ฟังว่า ระหว่างปี ค.ศ. 1990 – 1992 ขณะที่เธอเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้นในโรงเรียนรัฐบาล มีนักเรียนเพียง 1 คน ในจำนวนทั้งหมดประมาณ 500 คน ที่คลุมฮิญาบมาโรงเรียน ดร.อาเรียนี เชื่อว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชุดแบบฮิญาบได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากอิทธิพลการขยายตัวของอิสลามนั่นเอง

ตามความคิดของเธอ ยังมีอะไรต้องทำมากมายเกี่ยวกับการฟื้นฟูอิสลามในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นในสิ่งบริโภคที่ถูกต้องตามหลักศาสนาในสังคมชาวอินโดนีเซีย

รายงานของ Thomson Reuters และ DinarStandard ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยของมุสลิมเปิดเผยว่า ในปี 2013 (พ.ศ.2556) ผู้บริโภคมุสลิมทั่วโลกใช้จ่ายเงินในการซื้อเสื้อผ้าประมาณ 266 พันล้านดอลล่าร์ มีประมาณการว่า ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปี 2019 (พ.ศ.2562)

การเติบโตนี้เกี่ยวเนื่องกับจำนวนประชากรมุสลิมที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีการคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลกมุสลิม 1.6 พันล้านในปี 2010 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 พันล้าน ในปี 2050 (พ.ศ. 2593)

เสื้อผ้าแฟชั่นยี่ห้อดัง อาทิ Dolce และ Gabbana ได้รับอานิสงส์จากตลาดเสื้อผ้าแบบปกปิดไปก่อนแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา โดยการออกแบบเสื้อผ้าในแนวชุดฮิญาบ และอะบายา



“พวกเธอสามารถแต่งกายในแฟชั่นที่ทันยุคได้

ในขณะที่สามารถเติมเต็มตามหลักการของศาสนาที่ศรัทธาได้ด้วย”




Bonar Tigor Naipospos รองประธานสถาบัน Setara Institute ซึ่งสนับสนุนด้านเสรีภาพทางการเมือง และสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ดูเหมือนผู้หญิงในสังคมอินโดนีเซียกำลังถูกกดดันให้ ทำตัวให้ดูเป็นมุสลิม”

“ผู้หญิงบางคนถูกกดดันให้ต้องคลุมฮิญาบ หากไม่คลุมก็จะถูกครอบครัว เพื่อนฝูง และสังคมรอบข้างระราน หรือเหน็บแนม ดังนั้น พวกเธอจำต้องแต่งฮิญาบเพียงเพื่อให้ได้รับการยอมรับในกลุ่มเดียวกัน แทนที่จะถูกกีดกันออกไป”

เลนิต้า สุลตานี (Lenita Sulthani) วัย 44 ปี กล่าวว่า การที่เธอตัดสินใจไม่คลุมศีรษะ แม้จะไปทำฮัจญ์มาแล้ว ทำให้เธอตกเป็นเป้าของการตั้งคำถามจากทั้งครอบครัว และคนทั่วๆ ไป รวมทั้งเพื่อนร่วมงานที่คลุมศีรษะกันทั้งหมด ก็มักจะถามเธอเสมอๆ ว่า ทำไมไม่หาผ้ามาคลุมศีรษะเสีย

เลนิต้า ยังกล่าวว่า แม่ของเธอก็มักจะถามคำถามเดียวกันกับคนอื่นๆ และเธออายุมากแล้ว ซึ่งไม่ควรจะถูกทำร้ายจิตใจ แต่สิ่งนี้เป็นสิทธิส่วนตัวที่เธอสามารถจะเลือกเองได้ และเธอไม่ต้องการทำเพราะถูกบังคับด้วยเหตุผลต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เชลวี่ อัฟริน (Shelvy Afrin) รองประธานบริษัทเสื้อผ้ามุสลิมยี่ห้อ ชาฟิร่า (Shafira) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการจัด “สัปดาห์แฟชั่นอินโดนีเซีย” กล่าวว่า ผู้หญิงในอินโดนีเซีย ไม่ได้ถูกกดดันให้แต่งกายแบบฮิญาบแต่อย่างใด และยังมีผู้หญิงอินโดนีเซียอีกมากมายยิ่งกว่า ที่ยินยอมเปลี่ยนแปลงการแต่งกาย เพราะนิยมชมชอบในการออกแบบชุดฮิญาบที่ทันสมัย และตามแฟชั่น

ในสมัยก่อนการแต่งกายแบบฮิญาบไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันง่ายๆ แต่ในปัจจุบัน คนแต่งกายแบบฮิญาบกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นแนวนิยมของยุคสมัย “พวกเธอสามารถแต่งกายในแฟชั่นที่ทันยุคได้ ในขณะที่สามารถเติมเต็มตามหลักการของศาสนาที่ศรัทธาได้ด้วย”

เชลวี่ อัฟริน กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของความนิยมในเครื่องแต่งกายที่ปกปิด เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แบรนด์เสื้อผ้าของเธอประสบความสำเร็จ และมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปได้ในตลาดโลก

เจมี่ ซอร์ติโน่ (Jaimie Sortino) นักออกแบบชาวออสเตรเลีย ขึ้นกล่าวในพิธีเปิด “สัปดาห์แฟชั่นอินโดนีเซีย” ว่า เขาได้สังเกตเห็น “การกลับมาฟื้นฟูเครื่องแต่งกายแบบปกปิดที่สุภาพอีกครั้งหนึ่ง




ประมวลภาพ

























                      






ที่มา www.smh.com.au

www.nisavariety.com





Copyrights © 2009 www.nisavariety.com All Rights Reserved.
counter