แม่และเด็ก      เด็กก้าวร้าว เจ้าอารมณ์ ดูแลอย่างไร





เด็กก้าวร้าว เจ้าอารมณ์ ดูแลอย่างไร?





 

วัยเด็กเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ เด็กๆ จะเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวก่อน โดยเฉพาะครอบครัวซึ่งถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมแรกของชีวิต เป็นจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมทุกพฤติกรรม ตั้งแต่ความนุ่มนวลอ่อนโยน จนถึงความก้าวร้าว

ในปัจจุบันนี้มีเด็กๆ เป็นจำนวนมากที่หลายคนมองว่าเขาเป็นเด็กก้าวร้าว เพราะเห็นภาพเด็กแสดงความรู้สึกที่รุนแรงเมื่อไม่ได้ดังใจ เด็กที่ควบคุมตัวเองไม่ได้จะแสดงพฤติกรรมที่ขาดการยับยั้ง ไม่รู้ถึงผลที่ตามมา ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุเช่น ขาดแบบอย่างที่ดีให้ทำตาม ไม่ได้รับการช่วยเหลือชี้แนะแนวทางการแสดงออกที่เหมาะสม มีความเจ็บป่วยทางร่างกายหรือสมอง ซึ่งการดูแลช่วยเหลือเด็กก้าวร้าวนั้นสามารถทำได้ดังนี้

1. วางแผนการช่วยเหลือเด็กแต่ละคนให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก

2. ตรวจสอบดูว่าเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวจริงหรือไม่ เด็กบางคนที่บ้านของเด็กหยาบคาย ก้าวร้าวเป็นกิจวัตร ภาพปกติของเด็กคนนั้นจึงหยาบคายก้าวร้าว

3. ผู้ดูแลพูดบอก สอนให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม เสนอทางเลือกให้เด็ก เช่น “หนูต้องขอก่อนแล้วรออีกหน่อยนะ” “ตีไม่ได้ ยืนนิ่งๆก่อน” “ของนี้มีไว้เล่นแบบนี้ ขว้างไม่ได้” “ถ้าหนูเล่นโดยไม่ตีเพื่อน เพื่อนจะเล่นกับหนู แล้วจะสนุกมากด้วย”

4.ใช้เครื่องตั้งเวลาในการกำหนดเวลาเล่นของเล่นซึ่งเป็นเวลาที่ได้ตกลงกันตั้งแต่ก่อนเล่นของเล่นเสียเครื่องตั้งเวลาจะเป็นสัญญาณการยุติการเล่น

5. ให้เด็กได้มีโอกาสเลือกของเล่นด้วยตนเองก่อนที่ผู้ดูแลจะเสนอของเล่นแก่เด็ก

6. หากเด็กยังแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างต่อเนื่อง ให้ใช้เทคนิคการใช้เวลานอก เช่น เก็บของเล่นที่เด็กกำลังเล่นชั่วคราว ให้เด็กออกจากการเล่นชั่วระยะเวลาหนึ่งเมื่อสงบแล้วกลับมาเล่นต่อได้

7. เด็กที่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวโดยการทุบตีหรือต่อยรุนแรง ให้ใช้หมอนพิเศษให้ต่อย เล่นของเล่นที่ต้องใช้แรง เช่น การแบ่งแป้งโดเป็นชิ้นเล็กๆ ให้ขว้างแป้งไปติดกัน โยนบอลใส่ผนัง

8. ผู้ดูแลหยุดพฤติกรรมก้าวร้าวด้วยคำพูดที่ปกติ ลูบหลังเบาๆ เพื่อผ่อนคลายในกรณีที่เด็กยอมให้สัมผัสได้ อธิบายให้เด็กฟังว่าทำไมจึงทำไม่ได้ และเด็กควรทำอย่างไรเพื่อให้ความโกรธลดลง บอกให้เด็กรู้ว่าทำอะไรได้บ้างเมื่อรู้สึกโกรธ และอะไรบ้างที่ทำไม่ได้เลย

9. อยู่กับเด็กจนเด็กสงบ และบอกให้รู้ว่าพฤติกรรมดีขณะนี้ของเด็กคืออะไร ที่เด็กสงบลงเพราะเด็กควบคุมตัวเองได้

10. ใช้สิ่งที่เด็กเคยทำเป็นประจำทางเลือกในหารช่วยเหลือดูแลเด็กก่อนที่เด็กจะแสดงความก้าวร้าว เช่น “หนูจะเตะบอลหรือขี่จักรยาน” เมื่อเด็กเลือกการเล่นแล้วให้เด็กได้มีส่วนในการเตรียมสิ่งของเพื่อการเล่นตามความพร้อมขณะนั้นของเด็ก

11.พูดบอกให้เด็กรู้ล่วงหน้าว่าถ้ามีการทำร้ายกันบรรยากาศในห้องนี้จะเป็นอย่างไร เด็กจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง

12.ช่วยเด็กซ่อมแซมของเล่นที่เสียหายเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

13.ให้พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมรับรู้แนวทางการช่วยเหลือเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว

14.มีกิจกรรมใหม่ๆ มาให้เด็กได้ปฏิบัติ เด็กมีส่วนร่วมคิดรับรู้และเตรียมกิจกรรม

15.บันทึกรูปแบบการแสดงความก้าวร้าวของเด็ก

16.ให้ชุมชนมีส่วนรับรู้สนับสนุนพฤติกรรมดี และป้องกันแก้ไขพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็ก

17.กำหนดเวลาในการช่วยเหลือเด็กแก่ผู้ร่วมทีม เช่น เราจะช่วยเหลือเด็กคนนี้ 3 สัปดาห์

เพื่อช่วย
ไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกท้อแท้เบื่อหน่ายใน การดูแลช่วยเหลือเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวนั้นจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องหาสาเหตุของความก้าวร้าวให้ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้การดูแลครอบคลุมมากขึ้น ผู้ดูแลสื่อสารกับเด็กอย่างชัดเจนให้เข้าใจตรงกันว่าทำร้ายผู้อื่นไม่ได้ เด็กจะต้องทำอย่างเมื่อโกรธ ผู้ดูแลจะช่วยเหลือเด็กอย่างไรบ้าง ซึ่งจะช่วยให้เด็กรับรู้ว่ากำลังได้รับการช่วยเหลือให้ผ่านพ้นภาวะที่กดดัน นี้ไปอย่างไม่โดดเดี่ยว รวมทั้งยังได้รับบทเรียนที่มีประโยชน์ มีประสบการณ์ชีวิตในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเองเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่


 เปลี่ยนเจ้าตัวน้อยแสนดื้อด้วยรอยยึ้ม

 
อาการดื้อของเจ้าตัวน้อย คือ การที่เด็กไม่ยอมทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่ หรือไม่ยอมทำตามกฎระเบียบที่กำหนดเอาไว้ เด็กอาจไม่ยอมทำตามหรือทำแค่ครึ่งๆ กลางๆ ไม่ยอมทำให้เสร็จ อาการดื้อของเจ้าตัวน้อยเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัวได้บ่อยๆ พร้อมทั้งรอยยิ้มในบ้านจะจางหายไปได้


สาเหตุของเด็กดื้อ

1. สาเหตุ ทางกายภาพ ความบกพร่องทางสมองหลายอย่างทำให้เจ้าตัวน้อยกลายเป็นเด็กดื้อ ได้แก่ สมองอักเสบ การกระทบกระเทือนทางสมอง ลมชัก สมาธิสั้น พัฒนาการทางภาษาหรือทางสติปัญญาล่าช้า

2. พื้นฐานทางอารมณ์ของเด็ก เด็กบางคนมีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่ายตั้งแต่เล็กๆ เมื่อได้พบสิ่งแปลกใหม่จะตอบสนองทางอารมณ์อย่างรุนแรง

3. สภาพจิตใจขณะนั้น เช่น เวลาเด็กเหนื่อย หิว ง่วงนอน หรือถูกปลุกหลังจากนอนหลับใหม่ๆสภาพดังกล่าว เด็กจะหงุดหงิด พูดจาไม่รู้เรื่อง ดื้อ ไม่เชื่อฟังได้บ่อย

4. เป็นไปตามขั้นตอน พัฒนาการ เด็กวัย2-3ปี เริ่มอยากทำอะไรด้วยตนเอง ต้องการสำรวจสิ่งแวดล้อมในสิ่งที่สายตาผู้ใหญามองว่าเป็นอันตราย เช่น การปีนที่สูง เอามือแหย่ปลั๊กไฟ เล่นของมีคม ฯลฯ เมื่อผู้ใหญ่ห้ามปรามหรือดุว่าเด็กจะโกรธและแสดงออกด้วยการต่อต้าน ดื้อหรือทุบตีคนอื่น

5. ความตึงเครียดในครอบครัว ได้แก่ พ่อแม่ทะเลาะกัน มีการทำร้ายกันในครอบครัว ญาติป่วยหนักหรือเสียชีวิต ทำให้เด็กมีอารมณ์หงุดหงิด ดื้อ ก้าวร้าวอาจเกิดปัญหาพฤติกรรมตามมา

6. การเลี้ยงดู หรือวิธีที่พ่อแม่ใช้จัดการกับพฤติกรรมของเด็กอย่างไม่เหมาะสม เช่น การเลี้ยงแบบตามใจมากเกินไป ผลคือทำให้เด็กเคยตัว จะเอาอะไรต้องเอาให้ได้ ถ้าถูกขัดใจอาละวาด หรือเลี้ยงแบบลงโทษเด็กอย่างรุนแรงเมื่อเด็กทำผิด อาจมีสาเหตุจามพ่อแม่เป็นคนหงุดหงิด การควบคุมตัวเองไม่ดีมักลงโทษเฆี่ยนตีเด็กมากหรือหนักแน่นเกินความจำเป็น หรือลงโทษโดยไม่มีเหตุผล ทำให้เด็กต่อต้านพ่อแม่และดื้อมากขึ้น นอกจากนี้ยังซึมซับความรุนแรงเข้าไว้ในใจ และนำไปใช้จัดการกับปัญหาต่อไปเมื่อเขาโตขึ้น


 วิธีแก้ไขปัญหาเจ้าตัวน้อยแสนดื้อ

1.หาสาเหตุว่าทำไมลูกจึงดื้อ และมีปัจจัยอะไรที่กระตุ้นให้ลูกดื้อ เช่น เวลาที่พ่อแม่ดุลูกมีท่าทีที่ดุลูกไป ยิ้มไปด้วย ทำให้ลูกคิดว่าพ่อแม่ไม่เอาจริง ลูกกลับยิ่งดื้อต่อต้านมากขึ้นหากถูกดุด้วยท่าทีดังกล่าว เมื่อรู้สาเหตุให้แก้ไขตามสาเหตุนั้นๆ

2.ไม่ยั่วยุให้เด็กโกรธ เด็กวัย 2 - 3 ปี เป็นวัยสำรวจตรวจตราไม่ควรใช้คำว่า "อย่า" บ่อยๆ แต่ควรจัดการกับสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นอันตรายให้เรียบร้อย ให้โอกาสเด็กได้สำรวจตามวัยในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ถ้าเด็กอยากได้หรือสนใจของเล่นบางอย่างที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นอันตราย ให้ใช้วิธีเบี่ยงเบนไปสู่กิจกรรมอื่นที่น่าสนใจกว่า

3. ออกคำสั่งกับเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ คือ หนักแน่น กระชับ ชัดเจน ไม่ต่อล้อต่อเถียง และต้องติดตามว่าเด็กปฎิบัติตามคำสั่งที่ได้รับหรือไม่ ถ้าไม่ทำต้องกำกับให้เด็กทำจนเสร็จ โดยจับมือช่วยกันทำหรือภายใต้บรรยากาศของการช่วยเหลือและรอยยิ้ม

4. ให้รางวัลหรือคำชมเชยทันทีเมื่อเด็กทำตามคำสั่ง ไม่ควรมองข้ามสิ่งดีๆที่ลูกทำแม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อย เพราะเจ้าสิ่งเล็กน้อยนี่แหละจะงอกงามกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ถ้าเด็กรับ รู้ว่าเขาทำดีทำถูกต้องผู้ใหญ่พึงพอใจเขาจะขยันทำสิ่งดีนั้นๆเพิ่มมากขึ้น รางวัลอาจมีได้หลายอย่างเช่น สิ่งของ คำชม การโอบกอด ขนม ฯลฯ ตามความเหมาะสมของครอบครัว รางวัลไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง แต่เปี่ยมล้นด้วยคุณค่าจากจิตใจของผู้ใหญ่ที่ส่งให้เด็กๆเพียงเท่านี้ก็ สามารถสร้างรอยยิ้มบนแก้มของเจ้าตัวน้อยได้แล้ว

5. มีบทลงโทษเมื่อลูกทำผิด โดยร่วมกันกำหนดบทลงโทษไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เจ้าตัวน้อยรู้ว่าหากไม่เชื่อฟังคำสั่งจะเกิดอะไรตามมา การลงโทษควรเป็นการลงโทษอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น งดสิทธิพิเศษ ตัดค่าขนม งดเล่นเกม งดดูรายการที่ชอบ อาจใช้วิธีตีด้วยเหตุผลเป็นวิธีสุดท้ายถ้าวิธีอื่นๆข้างต้นใช้ไม่ได้ผล

6. ให้ความสนใจเมื่อลูกทำตัวดี มีพฤติกรรมเหมาะสม ทำตามคำสั่งหรือเชื่อฟังพ่อแม่ ไม่ให้ความสนใจหรือเพิกเฉยเมื่อลูกทำพฤติกรรมที่ไม่ดี พฤติกรรมดังกล่าว ต้องไม่เกิดอันตรายต่อตัวเด็กเองไม่เกิดอันตรายต่อคนอื่น หรือไม่ทำลายสิ่งของ จึงจะเพิกเฉยได้ แต่ถ้าพฤติกรรมนั้นๆก่ออันตรายพ่อแม่ต้องหยุดพฤติกรรมนั้นทันทีด้วยความสงบ

7. พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก ในการควบคุมอารมณ์โกรธ และทำตามกฎระเบียบของบ้านและสังคม

 การอบรม สั่งสอนลูกให้เป็นคนดี ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆแต่มีเคล็ดลับที่สำคัญคือ การให้ความรัดความเข้าใจ ให้โอกาสแก่ลูก เด็กจะลอกเลียนแบบการกระทำจากพ่อแม่และผู้ใหญ่ในครอบครัว การอบรมให้เจ้าตัวน้อยไม่ดื้อมิใช่จากการสั่งสอน อบรม โดยใช้คำพูดอย่างเดียวต้องผ่านการมีสัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัว ได้ซึมซับแบบอย่างที่ดี ภายใต้บรรยากาศของความรัก ความเข้าใจและรอยยิ้มแห่งความสุข




ข้อมูลจาก https://blog.eduzones.com




Copyrights © 2009 www.nisavariety.com All Rights Reserved.
counter